การดูแลรักษาช่วงลำไยออกดอกและการตัดช่อผล

การดูแลรักษาช่วงลำไยออกดอกและการตัดช่อผล


น้ำส้มควันไม้ (มีจำหน่ายที่ศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านทั่วไป)
ในช่วงนี้ถือว่ามีความสำคัญมากครับ เกษตรกรผู้ปลูกลำไยควรหมั่นสำรวจการระบาดของโรคและแมลงในสวนลำไยให้ดี แมลงที่สำคัญพบในช่วงออกดอกได้แก่ เพลี้ยไฟและโรคที่เกิดจากเชื้อราต่างๆ ถ้าระบาดอย่างรุนแรงควรพ่นสารไล่แมลงที่สกัดจากสมุนไพรธรรมชาติ เช่นสารสะเดาหรือน้ำส้มควันไม้ ควรพ่นในระยะที่ดอกยังไม่บาน แต่ไม่ควรพ่นในช่วงดอกบาน เพราะจะเป็นอันตรายต่อแมลงที่ช่วยผสมเกสร และช่วงลำไยติดผลให้ระมัดระวังแมลงปากดูด เช่น เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง เป็นต้น

การตัดช่อผลลำไย

กรณีลำไยติดผลดกมากกว่า 80 ผลต่อช่อ ควรตัดให้เหลือไม่เกิน 60 ผลต่อช่อ และควรตัดเมื่อลำไยขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว จะทำให้ผลลำไยมีขนาดโตขึ้นและมีผลที่สม่ำเสมอ จะได้ลำไยเกรด A และ เกรด B มาก สามารถขายได้ราคาสูง

ในช่วงที่ลำไยกำลังออกดอกถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก หากเกษตรกรผู้ปลูกลำไยควบคุมดูแลเอาใจใส่สวนลำไยช่วงนี้ได้เป็นอย่างดี นั่นหมายถึงผลผลิตที่มีคุณภาพ และจะตามมาด้วยผลกำไรที่คุ้มค่า..สรุปคือได้ราคาดีนั่นเองครับ

ให้น้ำให้ปุ๋ยลำไยตามช่วงวัยที่เหมาะสม

การให้น้ำและปุ๋ย รวมถึงการดูแลช่วงลำไยออกดอก

ดูแลรักษาสวนลำไย

น้ำถือว่าเป็นปัจจัยหลักในการเจริญเติบโตของพืช แต่การให้น้ำให้ปุ๋ยที่ถูกต้องและเหมาะสมตามความต้องการของพืชก็มีส่วนสำคัญในการเจริญเติบโต และเสริมสร้างความสมบูรณ์ของพืชได้ และในบทความนี้ขอนำเสนอวิธีการให้น้ำลำไยที่ถูกต้องเพื่อการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์ และเพื่อผลผลิตที่เพิ่มพูน..ดังนี้ครับ

การให้น้ำต้นลำไย ที่ปลูกใหม่ในระยะ 1- 2 ปีแรก ควรให้ประมาณ 20 - 60 ลิตรต่อระยะ 4 - 5 วันก็พอ ส่วนต้นลำไยอายุ 3 ปีขึ้นไปแล้ว การให้น้ำแก่ต้นลำไยช่วงนี้ปริมาณน้ำจะขึ้นอยู่กับลักษณะของดินที่อุ้มน้ำไว้ให้พืชครับ แต่ให้ใช้ในความลึก 40 เซนติเมตรต่อการให้น้ำหนึ่งครั้งก็พอครับ ส่วนการให้ปุ๋ยลำไยถือว่าเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน จะต้องมีการใช้ทั้งการวิเคราะห์ดินและใบลำไยประกอบการพิจารณา เพื่อปรับลดหรือเพิ่มปริมาณปุ๋ยด้วย

การให้ปุ๋ยระยะก่อนลำไยออกดอก
การให้ปุ๋ยลำไยหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตถึงระยะก่อนออกดอก ธาตุอาหารที่ลำไยต้องการมากในช่วงนี้คือ ธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และเป็นแม่ปุ๋ยผสมให้ดังนั้นสูตรปุ๋ยที่ใช้คือสูตร 46-0-0+15-15-15 + 0-0-60

การให้ปุ๋ยแก่ลำไยในระยะติดผลถึงเก็บเกี่ยว
การให้ปุ๋ยแก่ลำไยในระยะติดผลถึงเก็บเกี่ยว ควรให้ตามตารางอัตราการให้ปุ๋ยเคมี ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตต่อต้น เช่น ถ้าต้นลำไยติดผลดกควรใส่ปุ๋ยปริมาณมาก แต่ถ้าติดผลน้อยควรลดปริมาณลง และขึ้นอยู่กับปริมาณธาตุอาหารที่สูญเสียไปกับผลผลิตด้วย

โพแทสเซียมคลอเรท คืออะไร?

โพแทสเซียมคลอเรท (สารเร่งดอกผลิตลำไยนอกฤดู)

เทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดู

การราดสารเร่งดอกเพื่อผลิตลำไยนอกฤดู
สำหรับการผลิตลำไยนอกฤดู หรือการบังคับให้ต้นลำไยออกดอกติดผลนอกฤดูก็ไม่เป็นเรื่องยากอีกต่อไปแล้วนะครับ เพราะเกษตรกรผู้ปลูกลำไยได้รู้จักกับสารตัวหนึ่ง ซึ่งถือว่ามีบทบาทที่สำคัญ และเป็นตัวบังคับให้ต้นลำไยออกดอกติดผลนอกฤดูได้ นั่นก็คือ โพแทสเซียมคลอเรท ซึ่งโดยทั่วไปแล้วสารโพแทสเซียมคลอเรทจะใช้ทำระเบิด ดอกไม้เพลิง ดอกไม้แห้ง ไม้ขีดไฟเป็นต้น แต่บังเอิญว่าเมื่อนำสารดังกล่าวมาราดที่โคนต้นลำไยแล้ว ส่งผลให้ต้นลำไยออกดอกภายใน 20-35 วัน ได้อย่างน่าอัศจรรย์ นับเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่งของการผลิตลำไยในประเทศไทยเราครับ ซึ่งในเรื่องนี้ก็มีนักวิชาการเกษตรหลายคนมีความเชื่อว่าการผลิตลำไยในอนาคตไม่จำเป็นต้องพึ่งอากาศหนาวเย็นอีกต่อไปแล้ว แต่สิ่งที่ยังน่าเป็นห่วงอยู่ก็คือ หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตร จะต้องเฝ้าติดตามถึงผลข้างเคียงของสาราชนิดนี้อย่างใกล้ชิด เพราะทราบมาว่าต้นลำไยที่จะใช้โพแทสเซียมคลอเรทราดนั้น จะต้องมีความสมบูรณ์ของลำต้นค่อนข้างมาก อีกทั้งยังมีปัจจัยอื่นๆประกอบอีกมากมาย แต่ถึงกระนั้นในบางปีที่ผ่านมาต้นลำไยที่มีอายุมากก็มีการติดดอกออกผลมากและดกทุกต้น โดยไม่ใช้สารโพแทสเซียมคลอเรท แต่เป็นการใช้น้ำหมักชีวภาพที่หมักจากสัตว์ ซึ่งนับเป็นอีกแนวทางหนึ่งของเทคโนโลยีในการทำให้ต้นลำไยออกดอกและติดผลได้ดี ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านนั่นเองครับ

เทคนิคการใช้สารโพแทสเซียมคลอเรต

เทคนิคใช้สารโพแทสเซียมคลอเรต กระตุ้นการออกดอกของลำไย


ผมก็เป็นอีกคนหนึ่งครับ ที่สนใจและรักที่จะทำเกษตร โดยเฉพาะการปลูกลำไย สำหรับบทความที่เพื่อนๆ กำลังอ่านอยู่นี้ ผมได้รวบรวมตลอดถึงเสาะแสวงหาสาระดีๆที่มีประโยชน์ โดยได้ตระเวนสอบถามข้อมูลจากเจ้าของสวนลำไยบ้าง จากประสปการณ์ที่ผมได้ทดลองทำบ้าง สำหรับในบทความนี้ ก็มีสาระดีมาฝากเพื่อนๆ เกษตกรอีกเช่นเคยครับ เป็นเทคนิคในการใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตให้ได้ประสิทธิภาพสูง มีรายละเอียดดังนี้ครับ

กระตุ้นการออกดอกลำไยด้วยสารโพแทสเซียมคลอเรต
ในการใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตให้ได้ผลดีนั้น มี 4 ปัจจัยหลักสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ

1. อายุของใบลำไย
เพราะระยะของใบลำไยที่เหมาะสมต่อการให้สาร ควรมีการแตกใบอ่อนประมาณ 2 รุ่น หรือมีอายุใบอย่างน้อย 3 สัปดาห์ขึ้นไปเป็นอย่างต่ำครับ

2. ปริมาณและฤดูกาลให้สารลำไย
ควรกำหนดปริมาณของสารให้เหมาะสมกับฤดูกาล เช่นช่วงฤดูหนาวควรให้สารในอัตราต่ำ ส่วนช่วงฤดูร้อนควรใช้สารในอัตราปานกลาง และฤดูฝนควรให้ในอัตราสูงเป็นต้น และที่สำคัญไม่ควรให้สารกับต้นลำไยที่มีอายุมากในช่วงฤดูฝน เพราะจะตอบสนองต่อสารได้ไม่ดีเท่ากับลำไยที่มีอายุน้อย

3. ช่วงเวลาที่ให้สารลำไย
จากการทดลองพบว่า ต้นลำไยที่ให้สารโพแทสเซียมคลอเรตในสภาพที่มีแสงแดดปานกลางจะออกดอกได้ดีกว่าในสภาพครึ้มฟ้าครึ้มฝน เพราะฉะนั้นเกษตรกรผู้ปลูกลำไย ควรหลีกเลี่ยงการให้สารโพแทสเซียมคลอเรตในช่วงครึ้มฟ้าครึ้มฝนหรือช่วงที่ฝนตกชุก

4. สายพันธุ์ลำไย
กล่าวคือลำไยพันธุ์สีชมพูจะตอบสนองต่อสารโพแทสเซียมคลอเรตได้ดีกว่าพันธุ์อีดอ เพราะฉะนั้นแล้วหากเกษตรกรผู้ปลูกลำไยจะใช้สารดังกล่าวกับลำไยพันธุ์อีดอ จึงควรลดปริมาณสารลงครึ่งหนึ่ง
และท้ายสุด ก็มีเทคนิคอยากแนะนำอีกอย่างนั่นก็คือ ในการให้สารโพแทสเซียมคลอเรตเพื่อกระตุ้นการออกดอกของลำไย ถึงแม้จะทำได้หลายวิธี เช่น ทางใบ ทางดิน แต่วิธีที่ได้ผลดีที่สุดก็คือ การให้ทางดินนั่นเองครับ..บทความหน้าจะพยายามสรรหาและนำเสนอสาระดีๆ มีประโยชน์แบบนี้ นำมาฝากกันอีก..อย่าลืมติดตามนะครับ

ที่มา: ข้อมูลที่ได้จากการสอบถามจากประสบการณ์จริงของชาวสวนลำไย จ.ลำพูน

เทคนิคตัดแต่งกิ่งลำไยที่ถูกต้อง

ตัดแต่งกิ่งลำไยให้ถูกต้อง รองรับการผลิตลำไยนอกฤดู

ในการตัดแต่งกิ่งลำไยที่ถูกต้อง ควรตัดแต่งให้ได้เร็วที่สุดภายหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแตกกิ่งใหม่ที่เร็วและตอบสนองต่อการให้สารโพแทสเซียมคลอเรต แนะนำ 3 รูปทรงคือ

1.ตัดแต่งกิ่งลำไยทรงสี่เหลี่ยม
การตัดแต่งกิ่งลำไยรูปทรงนี้ กระทำได้โดยกำหนดความสูงประมาณไม่เกิน 3 เมตร คือตัดกิ่งส่วนบนไม่ให้สูงเกิน 3 เมตร เสร็จแล้วตัดกิ่งด้านข้าง 4 ด้านเข้ามาประมาณ 20 เซนติเมตร

2. ตัดแต่งกิ่งลำไยทรงฝาชีหงาย
การตัดแต่งกิ่งลำไยรูปทรงนี้ จะตัดกิ่งกลางทรงพุ่มออกให้หมดเหลือเฉพาะกิ่งที่เจริญในแนวนอน ความสูง 2-3 เมตร จากนั้นจะเกิดกิ่งกระโดงขึ้นตามกิ่งจำนวนมาก ข้อดีของการตัดแต่งกิ่งลำไยรูปทรงนี้ก็คือ สามารถควบคุมความสูงให้อยู่ในระดับเดิมได้ทุกปี ผลผลิตลำไยที่ได้ก็มีคุณภาพ แต่ก็มีข้อที่ควรระวังด้วยนะครับ เพราะหากลดความสูงลงมากผลผลิตจะลดลงด้วย และต้นลำไยจะมีอาการแตกของเปลือกที่กิ่งและลำต้น ดังนั้นในปีแรกที่ตัดแต่งกิ่ง ควรทำในฤดูฝนและควรลดความสูงลงไม่เกินร้อยละ 30 ของความสูงของต้นเดิม

3.ตัดแต่งกิ่งลำไยทรงเปิดกลางทรงพุ่ม
คือให้ตัดกิ่งหลักที่อยู่กลางทรงพุ่มออก 2 - 5 กิ่ง เพื่อให้ต้นลำไยได้รับแสงมากขึ้น จากนั้นตัดกิ่งกระโดงหรือกิ่งน้ำค้าง กิ่งที่ไม่ได้รับแสง กิ่งที่ไม่สมบูรณ์ และกิ่งที่ถูกโรคหรือแมลงทำลาย และที่สำคัญควรตัดแต่งกิ่งให้เหลืออยู่ประมาณร้อยละ 60 ของทรงพุ่ม ข้อดีของการตัดแต่งรูปทรงนี้ก็ คือ จะช่วยชะลอความสูงของต้นลำไย โดยที่ผลผลิตไม่ลดลง

จากการทดลองและได้ข้อสรุปว่า การตัดแต่งกิ่งแบบนี้ จะทำให้การใช้สารโพแทสเซี่ยมคลอเรต(สารกระตุ้นการออกดอกเพื่อผลิตลำไยนอกฤดู) ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ กล่าวคือลำไยออกดอกดีขึ้น ได้ผลผลิตสูง แต่ก็มีปัญหาที่ตามมาคือ การให้สารดังกล่าวซ้ำในต้นเดิม ทำให้ลำไยออกดอกน้อยลงหรือไม่ออกดอกเลยก็มี แสดงให้เห็นว่ามีการดื้อยาเกิดขึ้น ดังนั้นเกษตรกรผู้ปลูกลำไย ควรแบ่งแปลงและให้สารโพแทสเซียมคลอเรตแก่ต้นลำไยแบบปีเว้นปี ก็จะหมดปัญหาในเรื่องนี้ได้ครับ


ที่มา: เอกสารประกอบการอบรมเรื่อง การผลิตลำไยให้ได้คุณภาพ โดย อาจารย์พิชัย สมบูรณ์วงศ์ นักวิชาการเกษตร 8 ฝ่ายนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร. 053-873938-9 ในวันและเวลาราชการ.

เทคนิคกระตุ้นลำไยให้ติดผลทุกปี

เทคนิคกระตุ้นลำไยให้ติดผลทุกปี

วิธีทำลำไยในฤดูให้ออกดอกและติดผลติดต่อกันทุกๆ ปี

ดอกลำไย
ลำไย เป็นไม้ผลทีสามารถปลูกได้ในดินแทบทุกชนิดครับ แต่ที่ชอบที่สุดคือดินร่วนปนทราย และตามปกติทั่วไป ลำไยจะออกดอกในช่วงต้นฤดูหนาวประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม  เพราะช่วงนี้อากาศจะเริ่มหนาวเย็น อุณหภูมิจะลดลง หากเราสังเกตให้ดีจะเห็นว่า หากปีไหนอากาศหนาวเย็นนานๆ โดยไม่มีอากาศอบอุ่นเข้ามาแทรก ลำไยจะออกดอกและติดผลดีมาก แต่สภาพอากาศในโลกปัจจุบันผันแปรอยู่ตลอดเวลาครับ ยิ่งในปัจจุบันโลกเรากำลังประสบภาวะโลกร้อน ก็ยิ่งทำให้ฤดูกาลต่างๆเปลี่ยนไป จะสังเกตได้จากบางปีในช่วงฤดูหนาวอากาศจะหนาวไม่นาน เช่นจะหนาวแค่ประมาณ 4-5 วัน  จากนั้นก็จะอบอุ่นขึ้นอีก 4-5 วัน แล้วก็กลับมาหนาวอีกครั้ง  มิหนำซ้ำบางปีมีฝนหลงฤดูมาตกในช่วงฤดูที่ลำไยกำลังจะออกดอก  ซึ่งเป็นผลทำให้ลำไยแทนที่จะออกดอกเพื่อผลิตผล กลับแตกใบอ่อนขึ้นมาแทน เป็นเหตุให้ลำไยในปีนั้นไม่ออกดอกหรือออกดอกได้ไม่สมบูรณ์เต็มที่ สุดท้ายผลผลิตที่ได้ก็ไม่เต็มที่เช่นกันครับ แต่ปัญหาดังกล่าวไม่เป็นที่น่าวิตกอีกแล้วครับ เพราะในปัจจุบันได้มีเกษตรกรทำการทดลองทำลำไยในฤดูให้ออกดอกและติดผลติดต่อกันทุกๆปีประสบผลสำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผมเห็นว่าข้อมูลดีมีประโยชน์ จึงได้ขออนุญาตนำเทคนิคดังกล่าวมานำเสนอให้ได้ทดลองทำ กัน มีรายละเอียดดังนี้ครับ

วิธีทำลำไยในฤดูให้ออกดอกและติดผลติดต่อกันทุกๆ ปี

ขั้นตอนการเตรียมต้นลำไย

1. หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไยแล้ว ให้ทำการตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มลำไยโปร่งแสง ไม่อึมครึม คือให้แสงแดดส่องผ่านได้

2. ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักประมาณต้นละ 10 กิโลกรัม

3. ฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดแมลง + สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา (หากเลี่ยงได้ขอแนะนำให้ใช้น้ำหมักชีวภาพ สูตรไล่แมลง)

4. ฉีดพ่นด้วยฮอร์โมนบำรุงใบ เพื่อเร่งให้ลำไยแตกใบใหม่ และป้องกันแมลงเข้ามาทำลายใบชุดแรก และประมาณเดือนพฤศจิกายนลำไยจะแตกใบใหม่ประมาณ 2 -3  ครั้ง ทั้งนี้ก็แล้วแต่สภาพความสมบูรณ์ของต้นลำไย แต่หากจะให้ได้ผลดียิ่งขึ้น ต้องเร่งให้ลำไยแตกใบอ่อนอย่างน้อย 3  ครั้ง

ขั้นตอนกระตุ้นให้ลำไยออกดอก ให้ปฏิบัติดังนี้ครับ

ประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน หรือในช่วงวันที่ 10-20  พย. ให้เกษตรกรผู้ปลูกลำไยฉีดพ่นด้วย

- น้ำตาลกลูโคตร  (น้ำตาลทางด่วน)  1  กิโลกรัม
- ปุ๋ยสูตร  0-52-34  1  กก. และ ปุ๋ยสูตร  0-0-52  1  กิโลกรัม
โดยนำธาตุอาหารทั้งสามอย่างมารวมกันแล้วผสมกับน้ำ 200 ลิตรฉีดพ่น 2-3 ครั้งห่างกันทุก 7 วัน เพื่อเร่งให้ต้นลำไยสะสมอาหารและสร้างตาดอก และเหตุผลที่ต้องผสมปุ๋ยสูตร 0-0-52 ฉีดพ่น ก็เพื่ป้องกันไม่ให้ลำไยแตกใบใหม่ประมาณกลางเดือนธันวาคมนั่นเองครับ 

- ฉีดพ่นด้วยสารโปรแตสเซียมคลอเรทอัตรา 4  ขีด ผสมกับปุ๋ยสูตร 0-52-34 อัตรา 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 200 ลิตร  โดยฉีดพ่น 2 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน จะสังเกตเห็นว่าพอพ่นครั้งที่ 2 ใบลำไยจะร่วงประมาณ  30%  และจะเร่งติดต่อกันประมาณ  1  อาทิตย์ จากนั้นประมาณต้นเดือนมกราคมก็จะเห็นต้นลำไยแทงช่อดอกออกมา ช่วงนี้เราก็บำรุงต้นลำไยตามปกติครับ


อ้างอิงจากเอกสารที่จัดทำโดย: นายถาวร ธรรมตา (นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ชำนาญการ)

วิธีการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ลำไยแปรรูป

เก็บรักษาลำไยอบแห้งอย่างถูกวิธี สำไม่คล้ำ

   หากเรามีผลิตภัณฑ์ลำไยอบแห้ง ไม่ว่าจะเป็นเนื้อลำไยอบแห้ง ลำไยอบน้ำผึ้ง ลำไยอบแกะเนื้อ หรือเนื้อลำไยย้อมสีแช่อิ่มอบแห้ง หากเก็บรักษาไม่ถูกวิธี ส่วนใหญ่แล้วจะมีสีเปลี่ยนไปจากเดิมครับ โดยสีของลำไยจะคล้ำและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเชื่อว่าหลายๆ คนที่ปลูกลำไย หรือมีผลิตภัณฑ์ลำไยที่แปรรูปเก็บไว้ คงเคยประสบปัญหานี้อย่างแน่นอนครับ และในบทความนี้ผมก็มีสาระดีๆ มาฝากกันอีกเช่นเคยครับ เป็นวิธีการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ลำไยแปรรูปทุกอย่าง ดังนี้ครับ 

ลำไยอบแห้ง
การเก็บรักษาลำไยอบแห้ง
ในการเก็บรักษาลำไยอบแห้งหรือผลิตภัณฑ์ลำไยแปรรูปทั่วไป โดยไม่ทำให้สีและคุณภาพอื่นเปลี่ยนไปจากเดิมนั้น เกษตรกรผู้ปลูกลำไยควรเก็บรักษาในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 2-5 องศาเซลเซียส สำหรับการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 23-30 องศาเซลเซียส ยังไม่มีบรรจุภัณฑ์ชนิดใดที่สามารถรักษาสีให้คงเดิมโดยไม่เปลี่ยนแปลงได้ มีเพียงแต่บรรจุภัณฑ์บางชนิดที่มีคุณสมบัติที่สามารถรักษาสีได้ดีกว่าบรรจุภัณฑ์ชนิดอื่น และจากการทดลองพบว่า บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับเนื้อลำไยอบแห้งที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิห้อง คือ ถุงร้อน รองลงมา คือ ถุงเย็นหนา และถุงเย็นบางในกล่องกระดาษ และอีกทางเลือกหนึ่งที่อยากแนะนำก็คือ บรรจุภัณฑ์ที่มีการเติมสารดูดออกซิเจนภายใน ซึ่งบรรจุภัณฑ์ชนิดนี้จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาสีของผลิตภัณฑ์ลำไยอบแห้งได้ ซึ่งจะทำให้สีของลำไยเปลี่ยนแปลงช้าลงมาก ซึ่งบรรจุภัณฑ์ดังกล่าวได้ผ่านการทดลองเป็นที่เรียบร้อยแล้วพบว่า เนื้อลำไยอบแห้งที่เก็บในถุงสุญญากาศที่มีสารดูดออกซิเจนสามารถรักษาสีผลิตภัณฑ์ได้ดีกว่าถุงร้อนและถุงเคลือบที่มีสารดูดออกซิเจนเมื่อเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิห้อง โดยสีจะใกล้เคียงกับลำไยอบแห้งที่เก็บอยู่ที่อุณหภูมิ 2-5 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว

   ด้วยสาระดีๆ ในการเก็บรักษาผลผลิตลำไยแปรรูปที่นำมาฝากกันในบทความนี้ หวังว่าคงเป็นประโยชน์สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกลำไยหรือคนทั่วไปไม่มากก็น้อยนะครับ และในบทความต่อๆ ไปผมก็จะพยายามสรรหาสาระดีๆ แบบนี้มากฝากกันอีกเช่นเคยครับ

ที่มา: สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่

13 ถนนอารักษ์ ซอย 5 ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200