การผลิตลำไยนอกฤดู


เทคนิคผลิตลำไยนอกฤดูกาล

ลำไยในประเทศไทย ส่วนใหญ่พื้นที่การผลิตอยู่ที่ภาคเหนือของประเทศ ในอดีตการปลูกลำไยมีปัญหาที่สำคัญคือ การออกดอกติดผลไม่สม่ำเสมอของต้นลำไยเอง บางปีมีการออกดอกและติดผลมาก บางปีมีการออกดอกและติดผลน้อย หรือมีการออกดอกและติดผลแบบปีเว้นปี และเป็นปัญหาหลักของเกษตรกรผู้ปลูกลำไยเป็นอย่างมาก ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกเองสูญเสียรายได้ต่อปีเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันปัญหาเรื่องการออกดอกของลำไยสามารถแก้ไขได้ โดยการใช้สาร โปแทสเซียมคลอเรต เพื่อกระตุ้นหรือชักนำการออกดอกของลำไย โดยเฉพาะในแหล่งผลิตลำไยที่จังหวัดลำพูน เชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย และพะเยา หรือในแถบจังหวัดตาก กำแพงเพชร และจันทบุรี

การผลิตลำไยนอกฤดูกาล สามารถทำได้ 2 วิธี คือ

1.การผลิตลำไยนอกฤดู โดยการใช้ลำไยสายพันธุ์ทะวาย
เกษตรกรสามารถผลิตลำไยนอกฤดูกาลได้ โดยการปลูกลำไยพันธุ์ที่มีการออกดอกติดผลนอกฤดูกาล เช่น ลำไยพันธุ์เพชรสาคร เป็นลำไยสายพันธุ์ที่สามารถออกดอกตลอดปี ปลูกมากแถบภาคกลาง ที่ อ.บ้านแพร้ว จ.สมุทรสาคร ออกดอกและติดผล 2 รุ่น รุ่นแรกออกในช่วงเดือน ธันวาคม – มกราคม เกี่ยวเกี่ยวผลผลิตลำไยได้ในเดือน พฤษภาคม – มิถุนายน และรุ่นที่สอง มีการออกดอกในเดือนกรกฎาคม – เดือนสิงหาคม สามารถเก็บผลผลิตลำไยได้ในเดือน ธันวาคม - เดือนมกราคม เป็นลำไยที่มีผลมีขนาดปานกลาง เนื้อค่อนข้างแฉะ มีกลิ่นค่อนข้างแรง รสชาติหวานจัด เมล็ดค่อนข้างใหญ่ แต่ปัจจุบันได้พบลำไยที่ปลูกจากเมล็ดจำนวนหนึ่งที่กลายพันธุ์ และสามารถออกดอกนอกฤดูได้ เช่นในจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง และขอนแก่น

2.การผลิตลำไยนอกฤดู โดยการใช้สารเคมี
ปัจจุบันปัญหาเรื่องการออกดอกไม่สม่ำเสมอของลำไยสามารถแก้ไขได้แล้ว โดยการใช้สาร โปแทสเซียมคลอเรต (Potassium chlorate) ไปกระตุ้นหรือชักนำการออกดอกของลำไย โดยเฉพาะในแหล่งผลิตลำไยที่จังหวัดลำพูน เชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย พะเยา และจันทบุรี ซึ่งวิธีการใช้ก็สามารถทำได้ง่ายๆ ก็คือ นำสารโปแทสเซียมคลอเรตละลายในน้ำ แล้วราดภายในทรงพุ่ม เสร็จแล้วให้น้ำตาม หรือจะพ่นทางใบ วิธีใดวิธีหนึ่งก็สามารถกระตุ้นให้ลำไยออกดอกได้ภายใน 21-35 วัน

ข้อควรรู้ในการใช้สาร โปแทสเซียมคลอเรต (Potassium chlorate)

โปแทสเซียมคลอเรต (KCLO3) สามารถละลายน้ำได้และละลายในสารเช่น กลีเซอร์รอลและแอลกอฮอล์ ลักษณะเป็นผลึกใสไม่มีสี อาจเป็นผงขาวหรือเม็ดสีขาว คุณสมบัติเป็นของแข็งและเป็นตัวเติมออกซิเจนที่รุนแรงมาก สามารถระเบิดได้เมื่อทำปฏิกิริยากับกรดกำมะถัน สามารถติดไฟและระเบิดได้เมื่อนำไปรวมกับสารอนินทรีย์ชนิดต่างๆ เช่น กำมะถัน ฟอสฟอรัส ซัลไฟด์ ปุ๋ยยูเรีย น้ำตาลทราย เกลือแอมโมเนียเกือบทุกชนิด และสารตัวเติมออกซิเจนอื่นๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารผสมดังกล่าวข้างต้น